ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต : มุมมองจากการบ้านวิชาภาษาไทยปี1

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
วีรพร นิติประภา
พิมพ์ครั้งที่ ๖
สำนักพิมพ์มติชน
๒๕๖ หน้า
๑๘๐ บาท
          “ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ” นวนิยายที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นผลงานของวีรพร นิติประภา  นักเขียนสาวที่อยู่ในแวดวงหนังสือมาอย่างยาวนาน มีพื้นฐานจากการอ่านหนังสือตั้งแต่อายุ ๑๒-๑๓ ปี เรียกได้ว่าเป็นหนอนหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก งานเขียนเรื่องนี้ผสมผสานแรงบันดาลใจที่นักเขียนเจอในการอ่านเรื่องสั้นของหนังสือคู่สร้างคู่สม ข่าวสั้นจากหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังได้รับแรงผลักดันจากความขัดแย้งทางการเมือง ในปี ๒๕๕๓ ทำให้นึกถึงไส้เดือนที่มันไม่รู้ว่าตัวเองตาบอด ไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ใต้ดิน ต้องไปไหน จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้
          ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายที่นำเรื่องราวของความขัดแย้งในปัจจุบันมาอยู่ในรูปแบบของนิยายรักน้ำเน่ามาตรฐาน มีการพบเจอ จากกัน กลับมาเจอกันอีกครั้ง สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องราวความขัดแย้งในปัจจุบันนั่นก็เหมือนกับความรักนั่นเอง เกิดขึ้นเป็นประจำ และเราต้องผ่านเหตุการณ์เหล่านี้หลาย ครั้งในช่วงชีวิตของเรา พอเริ่มชุมนุมก็เสมือนเริ่มมีความรัก ตาบอด วกวน และสอดแทรกเนื้อหาไว้ว่า หากเราเข้าใจความรัก เราก็จะเข้าใจความขัดแย้งได้ดีเช่นเดียวกัน
          ชารียา เด็กหญิงกำพร้าทางจิตใจ ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังกับชลิกา พี่สาวของเธอ โดยที่พ่อและแม่ไม่เคยเลี้ยงดูหรือให้ความรัก “...เธอติดเชื้ออ้างว้างที่ไม่มีทางรักษา ต้องต่อสู้กับความรู้สึกหว่าเว้ไปชั่วชีวิต ชารียาเฝ้านับญาติเอากับฝูงสัตว์และต้นไม้ เรียกพวกมันอย่างนับถือโดยมีศักดิ์นำหน้า อย่างพี่ยู่ยี่ ป้าเหมียว พี่ตาหวาน... (หน้า ๑๔) ชารียาและชลิกาใช้ชีวิตเฉกเช่นฝาแฝด และปราณ เด็กชายที่เติบโตมาด้วยการร่อนเร่ ไม่เป็นหลักแหล่ง ตั้งแต่เขาเติบโตมา เขาไม่เข้าใจถึงสายใยสัมพันธ์ จนกระทั่งปราณ ชลิกาและชารียาได้มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกัน สายใยสัมพันธ์บางๆกลับเริ่มก่อตัวขึ้น โดยที่พวกเขาไม่มีวันตัดได้ไม่ได้บอกเธอทั้งสองว่าเขาเคยนอนมองฟ้า คิดถึงดวงดาวที่เคยเคลื่อนผ่านกระบะหลังรถบุโรทั่งนั่นจนเดือนพร่าเลือนละลายไปต่อหน้า ไม่ได้บอกพวกเธอว่าข้างนอกหน้าต่างนั่น อ้างว้างบัดซบเพียงไร เขาใช้ชีวิตมาแบบไหน และตลอดหลายปีที่ผ่าน...เขาคิดถึงพวกเธอทุกวัน” (หน้า ๑๕๐)
          เมื่อชารียาขาดแคลนความรักจากพ่อแม่ เธอจึงแสวงหาความรักจากคนภายนอก แต่ความรักเป็นเรื่องอารมณ์ที่ไม่แน่นอน ชายแต่ละคนที่เข้ามาในชีวิตเธอต่างมีวิธีที่จะหนีจากเธอหลายรูปแบบ ทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจะสังเวยชีวิตให้กับความรัก ปราณที่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ ก็ต้องเจ็บปวด เมื่อความรักของทั้งคู่เกือบจะเป็นไปได้ดี แต่อดีตของชารียาก็กลับมาทำร้ายเขา ชลิกาที่เฝ้ามองทั้งสองอยู่ตลอด ก็ต้องเจ็บปวดกับความจริงที่ได้รับรู้ ตัวละครในเรื่องต่างพบเจอชะตากรรมที่แตกต่างกันไป แต่ทุกๆ เรื่องกลับส่งผลกระทบถึงทั้ง ๓ คนโดยตรง ทั้งปราณ ชารียา และชลิกา
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต มิใช่เพียงแค่เรื่องรักน้ำเน่าของชลิกาและชารียา เรื่องราวของคนในครอบครัวที่มีทั้งแรงอาฆาต รอยร้าว หรือปราณ ชายหนุ่มผู้ผจญภัยชีวิตด้วยความเหงา หากแต่ในทุกตอนยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เห็นได้จากผู้เขียนใช้ภาษาที่สละสลวย ใช้คำสร้างภาพ มีความหมายลึกซึ้งทั้งในนามธรรมและรูปธรรม อาจจะยากสำหรับทำความเข้าในตอนแรก แต่ก็ให้ความหมายกินใจ ให้ผู้อ่านดื่มด่ำกับความงดงามทางภาษา และเข้าใจในมายาคติที่ผู้เขียนพร่ำบอก เช่นข้อความตอนหนึ่งที่ว่า “เพลงรักหวานซึ้งกึ่งอุดมคติทำให้เขารู้สึกคลื่นไส้ รักก็รัก ไม่รักก็ไม่รัก สามัญเหมือนตะวันขึ้นทุกเช้าตกทุกเย็น ไม่เห็นมีอะไรซับซ้อนให้ต้องซาบซึ้งน้ำตาซึม คนเราก็แค่รู้สึกเท่าที่รู้สึก แล้วเขาก็ไม่เห็นนึกออกว่าอุดมคติจะต่างกับอคติตรงไหน หรืออย่างไร... ก็แค่มายาคติของมายาคติ” (หน้า ๒๓๕) ช่วยให้นวนิยายที่มีเนื้อหาค่อนข้างเข้าใจยาก น่าติดตามมากยิ่งขึ้น
ดิฉันจึงใคร่อยากจะแนะนำหนังสือเล่มนี้แก่ท่านผู้อ่าน เพราะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าสะท้อนปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่แปลกต่าง แต่กลมกลืนอย่างลงตัว อีกทั้งภาษาตลอดทั้งเรื่องยังเป็นสำนวนที่มีความหมายแยบยล ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตจึงนับเป็นนวนิยายอีกเล่มหนึ่งที่นักอ่านชาวไทยควรอ่าน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ตะหนัก ทบทวนถึงสาเหตุ และหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรุนแรงในสังคมปัจจุบัน อย่าปล่อยให้ประเทศไทยเป็นดังไส้เดือนที่ขุดหลุมฝังตัวเองอีกเลย
จารุวรรณ พันทะรี
นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
๓ มีนาคม ๒๕๕๙





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โรคผื่นกุหลาบ Pityriasis rosea

นั่งรถไฟไปเที่ยวกาญจนบุรี

นั่งเครื่องบินครั้งแรก เชียงใหม่-ดอนเมือง